top of page
Search
Writer's pictureGNN

กรมทรัพยากรธรณี ตรวจพิสูจน์พบกระดูกไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมยุค อายุกว่า 100 ล้านปี ที่ขอนแก่น


กรมทรัพยากรธรณี ตรวจพิสูจน์พบกระดูกไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมยุค อายุกว่า 100 ล้านปี ที่ขอนแก่น

.

พิพิธภัณฑ์สิรินธร สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 กรมทรัพยากรธรณี ได้รับแจ้งข้อมูลการพบสิ่งอันมีเหตุควรเชื่อได้ว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์จาก นายเชาวลิต บุญชาย ประชาชนในพื้นที่ จึงได้ลงพื้นที่ทำการสำรวจตรวจสอบ ณ บริเวณฝายน้ำล้น ของลำน้ำพอง บ้านโนนพยอม ตำบลม่วงหวาน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา

.

จากการตรวจสอบ พบซากดึกดำบรรพ์ชิ้นส่วนของกระดูกสันหลังของไดโนเสาร์กินพืชซอโรพอด เศษกระดูกซี่โครงไม่สามารถระบุชนิด และฟันของไดโนเสาร์กินปลาสไปโนซอริด และรอยชอนไช (burrow) อยู่ในชั้นหินทรายเนื้อละเอียดสีน้ำตาลแดง ของหมวดหินโคกกรวด (Khok Kruat Formation) กลุ่มหินโคราชอายุประมาณ 110-100 ล้านปีมาแล้ว ทั้งนี้ได้ให้นายเชาวลิต บุญชาย ผู้ค้นพบ แจ้งพบซากดึกดำบรรพ์ ต่อนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลม่วงหวาน เจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยตำแหน่ง เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551

.

เนื่องจากซากดึกดำบรรพ์ที่พบโผล่ให้เห็นภายหลังระดับน้ำลดลง และมีความเสี่ยงในการถูกทำลายเมื่อระดับน้ำสูงขึ้น เจ้าหน้าที่จากพิพิธภัณฑ์สิรินธร จึงเก็บตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์มาอนุรักษ์เบื้องต้น ณ พิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์ และเทศบาลตำบลม่วงหวานได้นำหินซึ่งมีตัวอย่างกระดูกซี่โครงและรอยชอนไช มาเก็บรักษาและจัดแสดงเพื่อให้ความรู้ ณ ที่ทำการเทศบาลตำบลม่วงหวาน ซึ่งได้รับความร่วมมือในการคุ้มครองและดูแลซาก และแหล่งดึกดำบรรพ์เป็นอย่างดี

.

นางสาวศศอร ขันสุภา นักวิชาการทรัพยากรธรณีชำนาญการพิเศษ พิพิภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยกรธรณี กล่าวถึงแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่ พบว่า “แหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่พบนี้ พบซากดึกดำบรรพ์ซึ่งช่วยเพิ่มเติมหลักฐานและข้อมูลการกระจายตัวของซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในประเทศไทยได้ อีกทั้งสภาพโดยทั่วไปในบริเวณนี้ภายหลังจากระดับน้ำลดลง ชั้นหินทรายที่วางตัวชั้นบนสุดพบปรากฏลักษณะชั้นเฉียงระดับ (cross-bedding) และชั้นหินบาง (lamination) แสดงถึงลักษณะทิศทางการไหลของทางน้ำบรรพกาลที่มีลักษณะสวยงาม นอกจากนี้ยังพบการเกิดกุมภลักษณ์ (pothole) บริเวณผิวหน้าชั้นหินหลายจุด สามารถพัฒนาและส่งเสริมให้เป็นจุดศึกษาเรียนรู้ธรณีวิทยาขนาดเล็ก (small geosite) ในระดับท้องถิ่น เฉพาะช่วงเวลาภายหลังระดับน้ำลดลงได้ ทั้งนี้ จะได้มีการร่วมลงพื้นที่ระหว่างกรมทรัพยากรธรณีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการสำรวจเพิ่มเติมโดยละเอียดในโอกาสต่อไป”

2 views0 comments

Comments


bottom of page